วัดพระธรรมกายเป็นเถรวาทหรือมหายานกันแน่!!!

คำถาม : วัดพระธรรมกายเป็นเถรวาทหรือมหายานกันแน่!!! ทำไมไม่แยกนิกายไปเลย!!! หรือทำมูลนิธินอกเหนือศาสนาพุทธไปเลย!!!
คำตอบ : ขอยืนยันว่า…“วัดพระธรรมกายเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างแน่นอน” แต่ก่อนที่จะอธิบายขยายความเกี่ยวกับประเด็นนี้ ควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ถูกแบ่งออกเป็นนิกายหลัก 2 นิกายคือ “เถรวาท” และ “มหายาน”
พระพุทธศาสนานิกาย “เถรวาท” … จัดว่าเป็นนิกายดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา ที่ถือปฏิบัติตามพุทธบัญญัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ “พระมหากัสสปะ” เป็นประธานในการทำ “ปฐมสังคายนา” เป็นกลุ่มที่พยายามรักษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด เพื่อคงความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระสัทธรรมโดยไม่มีการยืดหยุ่นข้อวัตรปฏิบัติ หรือปรับเปลี่ยนคำสอนให้ผิดไปจากคำสอนดั้งเดิม
และด้วยความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของนิกายเถรวาท จึงทำให้การเผยแผ่มีข้อจำกัดและกระจายออกไปได้ไม่กว้างเท่ากับมหายาน ซึ่งในยุคปัจจุบัน!!!พุทธนิกายเถรวาทจะนับถือแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ลาว พม่า ศรีลังกา เป็นต้น
พระพุทธศาสนานิกาย “มหายาน” … เป็นนิกายที่แยกตัวออกมาในภายหลัง มีแนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เน้นสร้างบารมีเพื่อขนสัตว์โลกไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้เป็นจำนวนมาก เป็นกลุ่มที่มีการแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติให้ยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนไปในประเทศต่างๆ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ยังมีการผนึกกำลังอุบาสก อุบาสิกา เพื่อช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ในยุคปัจจุบัน!!! พุทธนิกายมหายานจะนับถือแพร่หลายในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย เกาหลี เวียดนาม สิกขิม และภูฏาน เป็นต้น.
ถึงแม้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายานจะมีแนวทางปฏิบัติและมีแนวคิดที่แตกต่างกันในหลายๆ เรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม!!! ทั้ง 2 นิกายต่างก็สอนเรื่องอริยสัจ 4 และสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา อีกทั้งยังมีจุดหมายเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งคู่
สำหรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น จัดเป็นพุทธนิกาย “เถรวาท” ซึ่งแต่เดิมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ในเวลาต่อมาได้มีการแยกย่อยออกเป็น 2 ฝ่ายได้แก่… “มหานิกาย” (ซึ่งก็คือคณะสงฆ์เถรวาทดั้งเดิมที่ปักหลักเผยแผ่ในผืนแผ่นดินนี้มาอย่างยาวนาน) และ “ธรรมยุติกนิกาย” (ที่เพิ่งตั้งขึ้นในช่วงพ.ศ. 2376 โดย “พระวชิรญาณเถระ” หรือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร!!! ทั้งสองฝ่ายต่างก็อยู่ภายใต้กฏมหาเถรสมาคมเดียวกันและมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวกัน
ในส่วนของวัดพระธรรมกายนั้น ถือเป็นวัดใน “นิกายเถรวาท” ที่อยู่ในสังกัด “มหานิกาย” มาตั้งแต่ต้น เพราะพระภิกษุทุกรูปในวัดล้วนผ่านการบวชโดยมีพระอุปัชฌาย์อยู่ในสังกัด “มหานิกาย” อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย อีกทั้งทุกรูปยังมีข้อวัตรปฏิบัติและถือศีล 227 ข้อตรงตามแนวทางปฏิบัติของพุทธเถรวาทดั้งเดิมทุกประการ
เพราะฉะนั้น…วัดพระธรรมกายจึงไม่ใช่วัดในนิกาย “มหายาน” อย่างที่คนบางกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอคติกับวัดพระธรรมกาย) พยายามชี้นำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจผิดและเกิดความสับสน
สำหรับเหตุผลที่ทำให้คนสงสัยว่า…วัดพระธรรมกายเป็นเถรวาทหรือมหายานกันแน่นั้น น่าจะมาจากเหตุ 2 ประการดังนี้
1.เรื่องแนวคำสอน : หลายๆ คน (โดยเฉพาะที่ไม่เคยเข้าวัดพระธรรมกาย) อาจมีความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องคำสอนของวัดพระธรรมกาย ที่มีบางเรื่องอาจจะดูคล้ายแนวทางของพุทธแบบ “มหายาน” โดยเฉพาะเรื่องเป้าหมายในการสร้างบารมี ที่ทางวัดอยากให้ “ทุกคนบนโลก” เข้าถึงสันติสุขภายใน (หรือบรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกาย) ซึ่งจะทำให้โลกเกิดสันติภาพที่แท้จริง
มาถึงจุดนี้!!! ขอถามหน่อยเถอะว่า… “เป้าหมายที่จะช่วยให้ทุกคนบนโลกมีศีล มีธรรม และเข้าถึงธรรมซึ่งเป็นหนทางสู่นิพพานมันผิดตรงไหน!!! หรือมันไม่ดีอย่างไร!!!” ถึงแม้เป้าหมายของวัดพระธรรมกายจะเน้นการสร้างบารมีแบบไปเป็นทีม (ซึ่งอาจจะดูแตกต่างจากวัดพุทธเถรวาทหลายๆ วัด) แต่หลักธรรมหรือคำสอนที่ทางวัดพระธรรมกายนำมาเผยแผ่หรือสอนให้แก่สาธุชน ก็ตรงตามหลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานเอาไว้ทุกประการ
2.เรื่องแนวทางในการเผยแผ่ : ถ้ามองแบบผิวเผิน!!! แนวทางในการเผยแผ่ของวัดพระธรรมกายอาจดูแตกต่างจากวัดเถรวาทหลายๆ วัด เพราะทางวัดจะใช้แนวทางในการเผยแผ่แบบ “เชิงรุก” ไม่ได้เป็นแบบตั้งรับอย่างเดียว (คือ…เน้นการเผยแผ่พระธรรมคำสอนออกไปสู่สังคมในวงกว้าง)
แต่ก่อนที่ใครจะกล่าวหาวัดพระธรรมกายว่าไม่ใช่พุทธเถรวาทเพราะเรื่องนี้!!! ได้โปรดกลับไปศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลกันให้ดีเสียก่อน จะได้ไม่หลงสรุปอะไรง่ายๆ เพียงเพราะเห็นว่า…วัดพระธรรมกายมีแนวทางในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่แตกต่างจากวัดเถรวาทอื่นๆในประเทศไทย
ถ้าย้อนกลับไปในยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ เดิมทีนั้น!!! พระพุทธศาสนายังคงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแตกหรือแยกนิกายแบบในยุคปัจจุบัน และด้วยความที่ในยุคสมัยนั้นศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาหลักที่คนอินเดียโดยส่วนใหญ่นับถือ อีกทั้งยังมีความเชื่ออื่นๆ แพร่หลายในอินเดียอีกมากมาย
ดังนั้น…พระพุทธองค์จึงทรงมีนโยบายให้เหล่าพระอรหันตสาวก (ซึ่งในช่วงแรกๆ จะมีกันอยู่เพียงแค่ 60 รูป) แยกย้ายกันออกไปเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนให้ได้มากที่สุด และก่อนที่พระพุทธองค์จะส่งพระอรหันตสาวกทั้ง 60 รูปออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็ทรงประทานโอวาทให้แก่พระอรหันตสาวกเหล่านั้นว่า…
“ ภิกษุทั้งหลาย … พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป (คือจงไปคนเดียวหลายๆ ทาง อย่าไปทางเดียวหลายๆ คน) … แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม ”
(หมายเหตุ : สามารถไปตามอ่านรายละเอียดในช่วงนี้ได้จาก…พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม 4 หน้า 40 วินัยปิฎก มหาวรรค)
จากโอวาทดังกล่าวจะเห็นได้ว่า…นี่คือนโยบายเผยแผ่แบบ “เชิงรุก” ไม่ใช่นโยบาย “ตั้งรับอยู่กับที่” เพราะในสภาวะที่ศาสนาพราหมณ์ฝังรากลึกในสังคมอินเดียขนาดนั้น ถ้าหากมัวแต่ตั้งรับอยู่กับที่โดยไม่ออกไปเผยแผ่อย่างจริงจัง ก็คงยากที่จะแผ่ขยายพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปได้ในวงกว้าง
นอกจากพระพุทธองค์จะส่งพระอรหันตสาวกที่มีทั้งหมดออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามที่ต่างๆ แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงออกไปประกาศพระสัทธรรมด้วยตัวของพระองค์เองอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น…เสด็จเดินทางไปที่อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ซึ่งก็คือ อุรุเวลกัสสปะ , นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ซึ่งมีบริวารรวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน เมื่อชฎิล 3 พี่น้องพร้อมเหล่าบริวารเกิดความเลื่อมใสและขอออกบวชในพระพุทธศาสนา ก็ทำให้พระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในคราวเดียวกว่าพันองค์ จากจุดนี้!!! ทำให้พระพุทธศาสนาขยายตัวอย่างรวดเร็วและสามารถแผ่ขยายออกไปได้อย่างกว้างไกลตั้งแต่นั้น
นอกจากนี้!!! พระพุทธองค์ยังเสด็จไปโปรดบุคคลระดับผู้นำแคว้นอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น…เสด็จไปโปรด “พระเจ้าพิมพิสาร” แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มีผลทำให้เหล่าข้าราชบริพารและประชาชนในแว่นแคว้น หันมานับถือพระพุทธศาสนาและเข้าถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น
ซึ่งผลจากการที่พระบรมศาสดาทรงมีนโยบายเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน “เชิงรุก” (คือ…ทั้งที่ทรงออกไปแผยแผ่ด้วยตัวของพระองค์เอง และให้เหล่าพระสาวกแยกย้ายกันออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา) ทำให้ในที่สุด!!! พระพุทธศาสนาก็สามารถตั้งมั่นและครองใจผู้คนทุกระดับชั้นในชมพูทวีปได้เป็นผลสำเร็จ (กล่าวได้ว่า…มีคนทุกระดับหันมานับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่บุคคลผู้ยากไร้ คนทั่วไป ไปจนถึงระดับมหาเศรษฐี ผู้นำลัทธิ และกษัตริย์ผู้ปกครองแว่นแคว้น)
จากเรื่องราวข้างต้นคงทำให้ทุกท่านเห็นภาพการเผยแผ่ “เชิงรุก” ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางรากฐานเอาไว้ได้พอสมควร และคงจะมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเผยแผ่เชิงรุกของวัดพระธรรมกายว่า… “การเผยแผ่ในลักษณะนี้ไม่ใช่วิธีการใหม่ แต่เป็นการเจริญรอยตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระสัทธรรมในยุคพุทธกาล โดยมีการปรับรูปแบบในการเผยแผ่ (แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนคำสอน) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบัน (ยกตัวอย่างเช่น…มีการส่งพระไปเทศน์สอนและฝึกสมาธิถึงบ้านสาธุชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านกัลยาณมิตรทั้งในและนอกประเทศทั่วโลก หรือมีการใช้สื่อมัลติมีเดียและใช้ช่องทางในโลกโซเชียล เพื่อช่วยในการเผยแผ่พระสัทธรรมให้กว้างไกลออกไปทั่วโลก เป็นต้น)
จากที่ได้อธิบายขยายความมาทั้งหมด ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “แนวคำสอนและแนวทางในการเผยแผ่ที่วัดพระธรรมกายทำอยู่ในตอนนี้ เป็นพุทธเถรวาทแบบดั้งเดิมแท้ ๆ ตามที่พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานไว้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล”
เพราะฉะนั้น…ที่มีคนมาตั้งประเด็นว่า “ทำไมไม่แยกนิกายไปเลย!!! หรือทำไมไม่ทำมูลนิธินอกศาสนาพุทธไปเลย” จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องแยก……ชัดมั้ย!!!